การพกอาวุธปืน กฎหมายและข้อควรรู้เกี่ยวกับการพกอาวุธปืน

42994 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การพกอาวุธปืน กฎหมายและข้อควรรู้เกี่ยวกับการพกอาวุธปืน

กฎหมายและข้อควรรู้

"การพกพาอาวุธปืน"

 ในปัจจุบันนี้ มีข่าวและเหตุการณ์มากมายที่เกี่ยวการใช้ใช้อาวุธปืนในทางที่ผิด ก่อให้เกิดเหตุอาชญากรรมที่มีความรุนแรงในสังคม ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่า อาวุธปืนนั้น ใครก็สามารถซื้อและพกพากันได้แบบง่ายๆเลยหรือเปล่า วันนี่ BODYGUARD VIP THAILAND จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายการพกพาอาวุธปืน เพื่อเป็นความรู้และเข้าใจได้ง่าย
 
ความหมายของอาวุธปืน
“อาวุธปืน” หมายถึง อาวุธทุกชนิดซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนปืนโดยวิธีระเบิด หรือกําลังดันของแก๊สหรืออัดลมหรือเครื่องกลไกอย่างใด ซึ่งต้องอาศัยอํานาจของพลังงานและส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธนั้น ๆ
 
ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธที่กฎหมายถือว่าเป็นอาวุธด้วย เช่น ลำกล้อง, เครื่องลูกเลื่อน, เครื่องลั่นไก, เครื่องส่งกระสุน, ซองกระสุน หรือส่วนประกอบอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน มีเพียงพานท้ายปืน, สายสะพายปืน และไม้ประดับด้ามปืนไม่ถือว่าเป็นอาวุธ
 
การขออนุญาต
การที่ประชาชนจะมี หรือใช้อาวุธปืนได้ถูกตามกฎหมายนั้นจําเป็นที่จะต้องขออนุญาตจากทางราชการก่อน ซึ่งเมื่อทางราชการอนุญาตแล้ว ก็จะได้ออกใบอนุญาตให้ไป ใบอนุญาตที่เกี่ยวกับอาวุธปืนที่สําคัญ ได้แก่
1. ใบอนุญาตการซื้อขายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (ใบ ป.3)
2. ใบทะเบียนปืน ที่ระบุผู้ซื้อเป็นเจ้าของ (ใบ ป.4)
3.ใบอนุญาตพกพา (ใบป. 12) คือ ใบอนุญาติพกพาอาวุธปืน ที่ออกให้ตามกฏหมายของพนักงานฝ่ายปกครอง หน่วยงานราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติรัฐวิสาหกิจ หรือมอบให้ประชาชนมีและใช้เพื่อช่วยเหลือราชการ
 
ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน
พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา 7 กําหนดไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใด ทํา ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนําเข้า ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่อง กระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่”
 
การมีอาวุธปืนเพื่อเก็บ
ใครที่อยากเก็บปืน เช่น ไว้เป็นที่ระลึก จะต้องได้รับการอนุญาตก่อน โดยผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ให้ไปขออนุญาตมีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บ ณ กองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนผู้ที่ภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นขอใบอนุญาตต่อนายทะเบียนท้องที่ การมีอาวุธปืนเพื่อเก็บมีกฎหมายระบุ ดังนี้
 
มาตรา 11 กําหนดไว้ว่า “ใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บให้ออกได้สําหรับอาวุธปืนที่นายทะเบียนเห็นว่าชํารุดจนใช้ยิงไม่ได้ หรืออาวุธปืนแบบพ้นสมัย หรืออาวุธปืนซึ่งได้รับเป็นรางวัลจากการแข่งขันยิง ปืนในทางราชการ”
มาตรา 12 กําหนดไว้ว่า “อาวุธปืนซึ่งได้รับอนุญาตให้มีไว้เพื่อเก็บนั้น ห้ามมิให้ยิงและห้ามมิให้มีเครื่องกระสุนปืนไว้สําหรับอาวุธปืนนั้น”
 
 
การครอบครองปืนของผู้อื่น
 การครอบครองปืนของผู้อื่นที่ไม่ผิดกฎหมายมี 3 กรณี คือ
 
1. ผู้ครอบครองอาวุธปืนที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้อื่น เท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาอาวุธนั้นมิให้สูญหาย และผู้ครอบครองนั้นจะต้องมีคุณสมบัติที่จะมี และใช้อาวุธได้ เช่น
 
    - บิดานายดำ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ต่อมาบิดานายดำตาย นายดำจึงครอบครองอาวุธปืนนั้น เพื่อรอการแจ้งตายภายในกำหนด 3๐ วัน นับแต่วันที่ทราบการตาย และขอรับมรดกของบิดา ดังนี้นายดำไม่มีความผิด
     - นาย ก เป็นผู้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ต่อมานาย ก วิกลจริต นาง ข ภริยา ของนาย ก จึงครอบครองอาวุธปืนของนาย ก เพื่อรอส่งมอบอาวุธปืนและใบอนุญาตแก่นายทะเบียน นาง ข ไม่มีความผิด 
   - เก็บอาวุธปืนไม่มีทะเบียนได้ ตั้งใจว่าจะนำไปมอบให้นายทะเบียน ก็ถูกจับก่อน ดังนี้ไม่มีความผิด แต่ถ้าผู้เก็บอายุแค่ ๑๕ ปี (ยังมีอาวุธปืนไม่ได้) หรือปืนที่เก็บได้เป็นปืนเถื่อน ดังนี้ ถ้าผู้เก็บได้นำมาใช้ก็มีความผิดด้วย  
 
 2. ครอบครองอาวุธปืนของราชการทหาร และตำรวจ และของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ 
 
3. ครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนประจำเรือเดินทะเล รถไฟ และอากาศยานตามปกติ ซึ่งได้แสดงและให้พนักงานศุลกากรตรวจสอบตามกฎหมายแล้ว
  
หมายเหตุ ควรสังเกตว่า กฎหมายยกเว้นให้แต่อาวุธปืนของทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มิได้ยกเว้นแก่ตัวราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ
 
 
คุณสมบัติผู้ที่จะสามารถมีปืนไว้ในครอบครองได้
-ต้องอายุ 20 ปี ขึ้นไป บรรลุนิติภาวะ
-สภาพร่างกายปกติไม่พิการหรือทุพพลภาพ
-ไม่เป็นคนเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
-มีชื่อในทะเบียนบ้าน และมีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่งประจำในท้องที่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ทำอาชีพสุจริต
-ไม่เคยต้องโทษจำคุกคดีอาญา
 
ขั้นตอนการเตรียมเอกสารเพื่อขอใบ ป.3 (อนุญาตซื้อปืน) แยกได้เป็น 2 กลุ่ม
1.ผู้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัด ต้องไปยื่นเรื่องที่อำเภอ เอกสารที่ต้องใช้หลักๆ เลย คือ สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, เอกสารการประกอบอาชีพ, เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สิน, ผลการตรวจประวัติ, หนังสือรับรองความประพฤติจากผู้ใหญ่บ้าน อำเภอจะออกหนังสือให้ และต้องไปสถานีตำรวจพิมพ์ลายนิ้วมือตราวจสอบประวัติ
 
2. ผู้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่กรุงเทพฯ จะสะดวกกว่าต่างจังหวัดเพราะยื่นเรื่องที่กรมการปกครองที่เดียวจบ เอกสารที่ต้องใช้หลักๆ เลย คือ สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, เอกสารการประกอบอาชีพ, เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สิน, ผลการตรวจประวัติ, หนังสือรับรองความประพฤติจากข้าราชการ ระดับ 6 ขึ้นไป
 
 
การพกพาอาวุธปืน
สำหรับประชาชนทั่วไปการจะพกพาอาวุธปืนติดตัวไปตามสถานที่ต่างๆ ไม่สามารถทำได้ ถึงแม้ปืนของคุณจะมีทะเบียนถูกต้องครบ ยกเว้น มีใบอนุญาตพกพา (ป 12) หลักๆ คือต้องไว้ที่บ้านเท่านั้น กฎหมายมาตรา 8 ทวิ แห่ง พรบ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 กําหนดไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดพกพาอาวุธปืนติดตัวในเมือง หมู่บ้าน หรือทาง สาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจําเป็นและเร่งด่วน ตามสมควรแก่พฤติการณ์”
 
กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน อย่างเช่น เป็นพนักงานขนเงินเข้าธนาคาร, ขนส่งของมูลค่าสูง ธุรกิจเพชร พลอย ทองคำ ไปให้ลูกค้า หรือถ้าคุณเพิ่งได้เงินสดค่านายหน้าที่ดินมา 100,000 บาท และกำลังจะนำไปฝากธนาคารที่ห่างจากบ้าน 10 กม. ซึ่งอาจเกิดเหตุปล้นกลางทางได้ กรณีนี้ก็สามารถพกปืนติดตัวไปได้ (แต่พกปืนเข้าธนาคารไม่ได้นะ)
 

บทลงโทษ
ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ถ้าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา 8 ทวิวรรคสองด้วย ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 10,000 บาท
 
ผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8 ทวิวรรคสอง ต้องระวางโทษจําคุกไม่ เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ข้อมูลเพิ่มเติม "พระราชบัญญัติ อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งที่เทียมอาวุธ พ.ศ.๒๔๙๐"
 
BODYGUARD VIP THAILAND หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการพกอาวุธปืนได้มากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้